ความแตกต่างของ BCP กับ DRP
คำว่า BCP และ DRP เป็นกระบวนการที่มีความแตกต่างกัน แต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างมากจนต้องกล่าวถึงพร้อมกันและจัดทำแผนร่วมกันเสมอ
DRP หรือ Disaster Recovery Plan เป็นกระบวนการที่กิจการเริ่มกิจกรรมการกอบกู้ระบบงานหลักที่ใช้ดำเนินธุรกิจหลังจากที่ผ่านพ้นจุดวิกฤติที่สุดของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะการหยุดชะงักด้านการดำเนินธุรกิจ ที่มาจากผลของพิบัติภัยหรือมหันตภัย ซึ่งอาจจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ การโจมตีของผู้ก่อนการร้าย หรือเกิดการแพร่กระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์ จนกระทบต่อการทำงานของโปรแกรม
การที่ผู้บริหารของกิจการมองโลกในแง่ดี ไม่เชื่อในทฤษฎีมหันตภัย ทำให้กิจการจำนวนไม่น้อยปฏิเสธกระบวนการเตรียมการกอบกู้ธุรกิจหลังจากเกิดพิบัติภัย เพราะเห็นว่าพิบัติภัยมีโอกาสเกิดน้อยมาก
คำว่า แผน BCP : Business Continuity Plan เป็นกระบวนการที่กิจการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจการจะยังคงดำเนินธุรกิจได้ สามารถสร้างรายได้ มีกระแสเงินสดไหลเข้ามาสู่กิจการจากการดำเนินงานที่เป็นทางค้าปกติ แม้ว่ากิจการจะต้องเกิดการหยุดชะงักจากภัยธรรมชาติ หรือระบบงานหยุดทำงาน หรือการเจ็บป่วยกะทันหันของบุคลากรหลักพร้อม ๆ กัน ปัญหาที่เกิดกับกิจการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน หรือความท้าทายอื่น ๆ ที่อาจจะไม่สามารถคาดหมายได้ก่อนล่วงหน้าหรือไม่เคยเกิดขึ้นกับกิจการมาก่อน